โรคติดเกม ภาวะคุกคามสุขภาพเด็กไทย

“โรคติดเกม ภาวะคุกคามสุขภาพเด็กไทย” ท่านผู้ฟังครับ/คะ โรคติดเกม เป็นโรคทางจิตเวช ในปี ค.ศ. 2018 การอนามัยโลกได้ประกาศโรคติดเกม (Gaming disorder) เป็นหนึ่งในโรคทางจิตเวช มีผลกระทบเชิงลบต่อสุขภาพครอบครัว การศึกษา การงาน อาชีพ และสังคม ผลกระทบของโรคติดเกมในเด็ก ในเด็กเล็กอายุ 0 – 5 ปี พัฒนาการทางด้านสติปัญญาของเด็กจะเกิดจากการเรียนรู้ ผ่านประสบการณ์จริง ดังนั้นหากพ่อแม่ใช้อุปกรณ์หน้าจอเป็นสื่อการเรียนรู้ให้กับเด็กวัยนี้ อาจทำให้เด็กสูญเสียโอกาส ในการเสริมสร้างพัฒนาการทางสมองที่เหมาะสมตามวัย รวมถึงอาจสูญเสียโอกาสในพัฒนาการทางร่างกายและทางสังคม จากการไม่ได้ทำกิจกรรมที่หลากหลาย เช่น เมื่อสนใจอยู่แต่กับเกมและหน้าจอ ก็ไม่ได้ออกไปวิ่งเล่นกลางแจ้งหรือออกกำลังกาย ทำให้กล้ามเนื้อไม่ได้รับการกระตุ้นพัฒนาการทางร่างกายอย่างเหมาะสม สายตาที่ใช้จ้องหน้าจอเป็นเวลานาน ไม่ได้รับสิ่งกระตุ้น พัฒนาการทางสายตา อีกทั้งยังขาดปฏิสัมพันธ์ต่อหน้ากับเพื่อน ซึ่งอาจทำให้เด็กขาดทักษะในการเข้าสังคมและการดำรงชีวิต ในอนาคต และที่สำคัญคือเด็กยังไม่มีความสามารถในการควบคุมยับยั้งตนเองได้ จึงเกิดการเสียภาวะความรับผิดชอบตามวัย เช่น ความรับผิดชอบต่อการเรียน เป็นต้น โรคติดเกมในเด็กอาจฟังดูเป็นเรื่องที่น่ากลัว แต่ก็สามารถป้องกันได้ โดยต้องอาศัยความร่วมมือจากพ่อแม่ผู้ปกครอง และคนในครอบครัวเป็นสำคัญ เริ่มตั้งแต่การจัดสรรเวลามาใช้ร่วมกันในการทำกิจกรรมครอบครัว หากิจกรรมที่กระตุ้นความสนใจของเด็กได้เช่นเดียวกับเกม เช่น พาไปเที่ยวสวนสัตว์หรือพิพิธภัณฑ์ ชักชวนกันวาดรูป ออกกำลังกายหรือเล่นดนตรี เป็นต้น กล่าวคือ ต้องพยายามอย่าปล่อยให้เด็กว่างจนถูกอุปกรณ์หน้าจอเหนี่ยวนำเข้าไปสู่โลกของหน้าจอ ในกรณีจำเป็นจึงจะให้เด็กใช้งานอุปกรณ์หน้าจอได้ ในช่วงที่เด็กยังไม่สามารถควบคุมตนเองได้ ก็ไม่ควรให้อุปกรณ์หน้าจอ เป็นของใช้ส่วนตัวของเด็ก ควรให้หยิบยืมใช้จากพ่อแม่ผู้ปกครองเป็นครั้งคราว และหากให้ใช้ พ่อแม่ควรพูดคุยทำความเข้าใจ ถึงขอบเขตการใช้งานเอาไว้ล่วงหน้า ในช่วงเวลากลางคืนไม่ควรให้อุปกรณ์หน้าจออยู่กับเด็กภายในห้องนอน เพราะเป็นเวลา ที่เด็กสมควรพักผ่อน และที่สำคัญต้องหมั่นสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว พ่อแม่ผู้ปกครองต้องทำตัวให้เป็นตัวอย่างที่ดี ใช้งานอุปกรณ์หน้าจอเท่าที่จำเป็น สอนบุตรหลานให้รู้จักควบคุมตนเอง และมีขอบเขตการใช้งานที่เหมาะสมโดยใช้วิธีการ พูดสอนอย่างสร้างสรรค์ ไม่ใช้คำข่มขู่หรือความรุนแรง สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาโรคติดเกมในเด็กนั้น อย่างแรกที่พ่อแม่ผู้ปกครองควรทำคือ พูดคุยกับบุตรหลานในทางบวก โดยต้องให้บุตรหลานตระหนักว่าตัวเขาเองกำลังมีภาวะติดเกม ซึ่งจะส่งผลกระทบในทางลบหลากหลายด้าน และจำเป็นที่จะต้องขอความร่วมมือจากตัวเด็กในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้วย ขณะเดียวกันพ่อแม่ผู้ปกครองก็ต้องร่วมสร้าง บรรยากาศที่จะสนับสนุนการลด ละ เลิกพฤติกรรมติดเกมของเด็ก ซึ่งสามารถทำได้ในทำนองเดียวกับแนวทางป้องกันโรคติดเกม ในเด็กดังที่ได้กล่าวไปแล้ว ปัญหาเด็กติดเกมเป็นเพียงผลลัพธ์ที่เกิดจากการกระตุ้นพฤติกรรมการใช้งานอุปกรณ์หน้าจอเป็นเวลานาน คล้ายกับการติดยาเสพติด การจะแก้ไขเพื่อเบี่ยงเบนเด็กกลับสู่พฤติกรรมทางบวกก็ย่อมต้องใช้เวลายาวนานเช่นเดียวกัน ดังนั้น จึงเป็นสิ่งที่ง่ายกว่าหากพ่อแม่ผู้ปกครองจะให้ความสำคัญกับการป้องกันตั้งแต่ปัญหาเด็กติดเกมยังไม่เกิดขึ้น ปัญหาเด็กติดเกม พ่อแม่ป้องกันได้ง่ายกว่าแก้ไขครับ/ค่ะ จบบทความประจำวัน เรื่อง “โรคติดเกม ภาวะคุกคามสุขภาพเด็กไทย” เรียบเรียงและนำเสนอโดย ยุทธพร บานเย็น ท่านผู้ฟังที่สนใจบทความดังกล่าว สามารถดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซต์ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย radiothailand.prd.go.th หรือติดต่อได้ที่ส่วนกระจายเสียงในประเทศ โทรศัพท์ 0 2277 3804 ในวันและเวลาราชการ ที่มา: สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น กรมสุขภาพจิต/ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar